หน่วยการเรียนรู้ที่2 กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา

กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา


กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายเอกชนว่าด้วยเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย กฎหมายแพ่งของไทยบัญญัติในรูปของประมวลกฎหมายรวมกับกฎหมายพาณิชย์ รวมเรียกว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระพอสังเขป ได้ดังนี้
       1.1 บุคคล หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย มี 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
          1.1.1 บุคคลธรรมดา หมายถึง มนุษย์ซึ่งมีสภาพบุคคล และสิ้นสภาพบุคคลโดยการตายตามธรรมชาติ หรือตายโดยการสาบสูญ (กรณีปกติ 5 ปี และกรณีไม่ปกติ 2 ปี คือ อยู่ในระหว่างการรบสงคราม ประสบภัยในการเดินทาง เหตุอันตรายต่อชีวิต)
          1.1.2 นิติบุคคล หมายถึง สิ่งที่กฎหมายรับรองให้เป็นสภาพบุคคลสมมุติ ให้มีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
        ก) นิติบุคคลตามประมวลกกหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่


1) กระทรวง ทบวง กรม
2) วัดวาอาราม ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสงฆ์
3) ห้างหุ้นส่วนที่ได้จดทะเบียนแล้ว
4) บริษัทจำกัด
5) มูลนิธิ สมาคม
       ข) นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ได้แก่ นิติบุคคลที่มีกฎหมายพิเศษรับรองสถานะ เช่น พรรคการเมือง รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์
  1.2 ทรัพย์ กฎหมายได้แยกลักษณะของทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
1.2.1 สังหาริมทรัพย์ ได้แก่
ก) ทรัพย์ทั้งหลายอันอาจเคลื่อนที่ได้ จากที่แห่งหนึ่งไปแห่งอื่น ไม่ว่าเคลื่อนด้วยแรงเดินแห่งตัวทรัพย์นั้นเอง หรือ ด้วยกำลังภายนอก เช่น
1) เคลื่อนที่ด้วยแรงของทรัพย์นั้นเอง เช่น หมู ช้าง วัว ควาย ฯลฯ
2) เคลื่อนด้วยกำลังภายนอก เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ
ข) กำลังแรงแห่งธรรมชาติอันอาจถือเอาได้ เช่น ก๊าซ กระแสไฟฟ้า
ค) สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิจำนำ สิทธิจำนอง สิทธิเครื่องหมายการค้า ฯลฯ
1.2.2 อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
1) ที่ดิน
2) ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินนั้น เช่น ตึก โรงเรือน บ้าน ไม้ยืนต้นต่างๆ ฯลฯ
3) ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น หิน กรวด ทราย
4) สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น สิทธิครอบครอง สิทธิจำนอง กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
1.3 นิติกรรม หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายและใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ การแสดงเจตนาของนิติกรรมอาจจะแสดงด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการนิ่งก็ได้นิติกรรมแม้จะทำด้วยใจสมัคร ก็มีข้อบกพร่อง ถ้ากฎหมายเข้าไปควบคุมและไม่อนุญาตให้ทำ โดยมี 2 ลักษณะ
1. โมฆะกรรม หมายถึง การกระทำใดๆ ลงไป โดยเสียเปล่า ไม่มีผลผูกพันธ์ใดๆ
2. โมฆียกรรม หมายถึง นิติกรรมที่มีผลต่อคู่กรณี แต่ไม่สมบูรณ์โดยกฎหมาย เนื่องจากความสามารถของผู้กระทำนิติกรรม เช่น ผู้เยาว์ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้ไร้ความสามารถ เป็นต้น หากมีการให้การรับรอง นิติกรรมนั้นก็สมบูรณ์ หรือ บอกล้างได้ภายใน 10 ปี ก็จะตกเป็นโมฆะกรรม

1.4  สัญญา เป็นนิติกรรมชนิดหนึ่ง สัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมีคู่สัญญาถูกต้องตามสาระสำคัญ และมีวัตถุประสงค์ไม่ต้องห้ามตามกำหมาย หรือขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
1.1.4 สัญญากู้ยืมเงิน
1.4.2 สัญญาซื้อขาย1.4.3 สัญญาขายฝากสัญญาขายฝาก หมายถึง สัญญาซื้อขายที่ผู้ขาย มีสิทธิไถ่ถอนได้ทรัพย์คืนตามเวลาที่กำหนด หากไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ก็จะตกไปยังผู้ซื้อนับตั้งแต่เวลาที่ทำสัญญากัน

สัญญาซื้อขาย คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงจะชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขาย หากพูดถึงการซื้อขาย ก็จะต้องกล่าวถึง สัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งส่วนให้จะทำสัญญากันก่อน ก่อนซื้อขายส่งมอบทรัพย์สินกันจริง
             
1.4.4 สัญญาเช่าซื้อ  สัญญาเช่าซื้อ หมายถึง สัญญาที่เจ้าของทรัพย์ เอาทรัพย์ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไข ว่าต้องชำระเงินครบตามคราวที่กำหนด และที่สำคัญ สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นถือเป็นโมฆะ
1.4.5 สัญญาจำนองสัญญาจำนอง หมายถึง สัญญาที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สิน ประเภท อสังหาริมทรัพย์ เรือ แพ หรือ เครื่องจักร ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้
1.4.6 สัญญาจำนำ   สัญญาจำนำ หมายถึง สัญญาที่ผู้จำนำ ส่งมอบทรัพย์สินประเภท สังหาริมทรัพย์ แก่ผู้รับจำนำและตกลงว่าจะมาไถ่ถอนตามวันและเวลาที่กำหนด หากไม่มาไถ่ถอน ผู้รับจำนำมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น
 1.4.7 สัญญาค้ำประกัน   สัญญาค้ำประกัน หมายถึง การที่ผู้ค้ำประกันทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว ตนจะชำระหนี้แทน สัญญาค้ำประกัน ต้องทำเป็นหนังสือ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
1.5 ครอบครัว

1.5.1 การหมั้น หมายถึง การที่ฝ่ายชาย ตกลงกับฝ่ายหญิง ว่าจะสมรสกับหญิงนั้น โดยมีของหมั้นเป็นประกัน สาระสำคัญของการหมั้น
   1. การหมั้นนั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์จะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง
    2. ถ้าหมั้นแล้วสมรส ของหมั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง
   3. ถ้าหมั้นแล้วไม่สมรส
1.5.2 การสมรส

    1. การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่านี้ต้องให้ศาลอนุญาต
    2. การสมรส จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ จดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนผู้ที่กฎหมายห้ามสมรส
1.5.3 การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

    1. บุคคลผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี หากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือ ผู้แทน โดยชอบธรรม และคู่สมรส ด้วย (ยกเว้นคู่สมรสวิกลจริตหรือสาบสูญเกินกว่า 1 ปี )
   2. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ ถ้าจดทะเบียนตามกฎหมาย บุตรบุญธรรมจะมีฐานะเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกำหมายทุกประการ ขณะเดียวกันก็ไม่เสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ให้กำเนิด กฎหมายถือว่า บิดา-มารดาโดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับตั้งแต่วันที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น

  3. การเลิกรับบุตรบุญธรรม จะเลิกได้เมื่อทั้งคู่ยินยอมซึ่งกันและกัน หากบุตรบุญธรรมอายุต่ำกว่า 15 ปี จะฟ้องเลิกรับบุตรบุญธรรมไม่ได้ เว้นแต่ผู้มีสิทธิให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมยินยอม
1.5.4 มรดก

1. มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้าของมรดกตายหรือสาบสูญ
2. ทายาท
       2.1 ทายาทโดยธรรม ได้แก่ คู่สมรส และญาติสนิท สิทธิการรับมรดกจะแบ่งให้ลดลงตามความห่างของญาติ ถ้าเจ้าของมรดก มีบิดามารดา คู่สมรสและบุตรทุกคน จะได้คนละเท่ากันคนละส่วน

       2.2 ทายาทโดยพินัยกรรม    ในกรณีเจ้าของมรดก มีคู่สมรสต้องแบ่งทรัพย์สินแก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นมรดกตกทอดต่อไป
       2.3 ผู้ที่จะทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุ 1 5ปีขึ้นไป และต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
        2.4 การเสียมรดก
2.4.1 ทายาทโดยชอบธรรมยักย้ายถ่ายเท ปิดบังทรัพย์มรดก โดยทุจริต
2.4.2 ทายาทตามพินัยกรรม หลอกลวงหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมขึ้น


กฎหมายอาญา

 

         กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตัวบทที่สำคัญๆ ของกฎหมายอาญาก็คือ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นต้น
 ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ
        
1. ความผิดทางอาญา
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
  1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น
2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า “การลักทรัพย์เป็นความผิด” ดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน
2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้
3. โทษทางอาญา
1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย
2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ
4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน
5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ
    4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
     4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
    4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น

  4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ

   1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”

    2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
   5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ

           โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกันเหตุยกเว้นโทษทางอาญา การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น
1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน
6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด